โลกดนตรี
Pop On Stage
พิธีกร เสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์(2514-2539)
สัจจะ ไวทยะมงคล(2540)
ศราวุธ พลอยประดับ(2540-2543)
ต้นกำเนิด ไทย
ภาษา พากย์ไทย
การผลิต
โปรดิวเซอร์ บุญชาย ศิริโภคทรัพย์
สถานที่ 1.ห้องส่ง ททบ.5 (2514-2526)
2.ลานจอดรถ ททบ.5 (2526-2527, 2537-2539)
3.ลานโลกดนตรี ททบ.5 (2527-2537)
4.ลานเอนกประสงค์อิมพีเรียลเวิลด์ลาดพร้าว (2540)
5.ลานเอนกประสงค์เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (2540-2543)
ความยาวตอน 1 ชั่วโมง
การออกอากาศ
เครือข่าย/สถานี ช่อง 5 พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2539
ไอทีวี พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2543
มะจังทีวี ทรูวิชั่นส์ ช่อง 82 (เทปบันทึกภาพ)1 กรกฎาคม - ปัจจุบัน
ออกอากาศ พ.ศ. 2514 – พ.ศ. 2543
รายการที่เกี่ยวข้อง
รายการก่อนหน้า เที่ยงวันอาทิตย์, พลิกล็อก, จุดเดือด, ยุทธการขยับเหงือก ฯลฯ
รายการถัดไป รวมดาวสาวสยาม, แผ่นดินธรรม, ส่องโลก, ยุทธการขยับเหงือก, ตัวต่อตัว, ละคร ศรีธนญชาย, พลิกล็อกรีเทิร์นส ฯลฯ
เว็บไซต์ทางการ
ภาพของวงชาตรี ขณะแสดงสดทางรายการโลกดนตรีโลกดนตรี (มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Pop On Stage) คือรายการโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดสดการแสดงของคณะดนตรี ศิลปินนักร้อง โดยมีโฆษกคนยาก เสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ เป็นพิธีกร ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2514 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ภายใต้การควบคุมดูแลการผลิตของ บุญชาย ศิริโภคทรัพย์(ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ ทีวีไทย) และทีมงานคณะ “72 โปรโมชั่น” ทำการแสดงสดทุกบ่ายวันเสาร์เป็นเวลา 1 ชั่วโมง แรกเริ่มเดิมทีใช้ชื่อรายการว่า "Studio 7" (คำว่า 7 มาจาก ช่อง 7 ขาว-ดำ ซึ่งตอนนั้นยังไม่เป็นช่อง 5 สี) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น "Pop On Stage" และ "โลกดนตรี" ในที่สุด เมื่อ พล.ต.ประทีป ชัยปาณี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายรายการของสถานี ได้มีนโยบายกำหนดให้ทุกรายการของ ททบ.5 ใช้ชื่อเป็นภาษาไทย
เนื้อหา [ซ่อน]
1 ความนิยม
2 ศิลปินในโลกดนตรี
3 เอกลักษณ์รายการ
4 ผู้สนับสนุนในรายการ
5 โลกดนตรีครั้งพิเศษ
6 รางวัลที่ได้รับ
7 โลกดนตรี Magazine
8 โลกดนตรียุคสุดท้าย
9 การกลับมาของโลกดนตรี
10 อ้างอิง
11 แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้] ความนิยม
รายการโลกดนตรีในยุคแรกๆ ยังเป็นการแสดงของคณะศิลปินที่เล่นอยู่ตามไนท์คลับ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่อมาเมื่อวงการเพลงเริ่มมีธุรกิจเป็นรูปเป็นร่าง จึงรับศิลปินที่เพิ่งมีผลงานเพลงออกสู่ท้องตลาดมาแสดงสดกันในห้องส่งของสถานี(โดยมีเงื่อนไขว่านักดนตรีทุกคนต้องแสดงสด ห้ามอาศัยการเปิดเทปแล้วทำท่าทางเสมือนจริง) ปรากฏว่ามีนักร้อง นักดนตรี เข้ามาทำการแสดงในรายการมากมายหลายคณะ รายการก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งแนวเพลงไทยสตริงได้รับความนิยมกว่าเพลงสากลอย่างเต็มที แฟนเพลงเริ่มยอมรับผลงานเพลงไทยจากศิลปินไทยกันมากขึ้น ทางรายการจึงได้ย้ายวันเวลาออกอากาศมาเสนอเป็นประจำทุกเที่ยงวันอาทิตย์ จากที่เคยเสนอเพียงเดือนละครั้งหรือสองครั้ง และในปี พ.ศ. 2526 ได้มีการย้ายเวทีจากห้องส่งซึ่งจุได้แค่ 600 คน มาอยู่ในที่กลางแจ้งบริเวณลานจอดรถหน้าสถานี เพื่อรองรับผู้เข้าชมซึ่งมีเป็นจำนวนมากกว่า 5,000 คน ประเดิมด้วยการแสดงฟรีคอนเสิร์ตของวงชาตรี
ในปี พ.ศ. 2527 จึงได้ปรับเปลี่ยนการจัดเวทีกลางแจ้งให้เป็นเวทีถาวร โดยย้ายไปอยู่ข้างอาคารห้องส่งในเขตพื้นที่ของ ททบ.5 ใช้งบประมาณกว่า 5 แสนบาทเปิดเป็น "ลานโลกดนตรี" ขึ้นมา เริ่มทำการแสดงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2527 ด้วยการแสดงของคณะ พิงค์แพนเตอร์ และ นันทิดา แก้วบัวสาย อีกทั้งยังได้ออกแบบโลโก้ตัวหนังสือรายการโลกดนตรีขึ้นมาใหม่อย่างถาวรซึ่งใช้กันเรื่อยมาแม้กระทั่งทุกวันนี้ ในส่วนของเวทีจะมีการปรับเปลี่ยนตกแต่งตามรูปแบบของศิลปินที่มาแสดงแต่ละครั้ง นับแต่ช่วงนั้นรายการโลกดนตรีก็ได้รับความนิยมอย่างสูงมาก ติด 1 ใน 20 รายการโทรทัศน์ที่มีคนดูสูงสุด จากที่เคยล้มลุกคลุกคลานก็ทำกำไรเพิ่มมากขึ้น มีบุคคลในแวดวงดนตรีเข้าร่วมแสดงในรายการกันมากยิ่งขึ้น กลายเป็นรายการคอนเสิร์ตทางโทรทัศน์ยอดนิยมซึ่งเป็นต้นแบบของรายการคอนเสิร์ตจากทางช่องอื่นตามมา
[แก้] ศิลปินในโลกดนตรี
ศิลปินที่ร่วมแสดงในรายการโลกดนตรี มีมากมายหลายกลุ่ม หลายแนว หลายค่าย ทางรายการจึงเปิดกว้างโดยไม่จำกัด โดยที่ศิลปิน นักร้อง นักดนตรีเหล่านั้นต้องฝีมือดีและได้รับการยอมรับจากคนทั่วไป หรือติดตลาดให้คนรู้จัก จึงจะสามารถแสดงสดออกอากาศได้ ที่สำคัญได้แก่ แกรนด์เอ็กซ์, ชาตรี, ดิ อิมพอสซิเบิ้ล, กรีนแอปเปิ้ล, รอยัลสไปรท์, พิงค์แพนเตอร์, ฟรีเบิร์ดส, นันทิดา แก้วบัวสาย, สุชาติ ชวางกูร, ธงไชย แมคอินไตย์, พุ่มพวง ดวงจันทร์, ยอดรัก สลักใจ, สายัณห์ สัญญา, พรศักดิ์ ส่องแสง, พิมพา พรศิริ, จินตหรา พูนลาภ, คาราบาว, สาว สาว สาว, เฉลียง, นกแล, เอ็กซ์ วาย แซด, ไมโคร, บิลลี่ โอแกน, นูโว, อัสนี-วสันต์, อิทธิ พลางกูร, ไฮร็อก, เฟม, เรนโบว์, อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง, ติ๊ก ชีโร่, สามโทน, โจ-ก้อง, คริสติน่า อากีล่าร์, ทาทา ยัง, แร็พเตอร์, มอส ปฏิภาณ, โลโซ ฯลฯ
[แก้] เอกลักษณ์รายการ
รูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของรายการอีกอย่างก็คือ การแจ้งข่าวสารประชาสัมพันธ์ก่อนการแสดงทุกๆ ช่วง พร้อมด้วยกิจกรรมช่วงตอบคำถามประจำสัปดาห์ โดยแต่ละสัปดาห์ ผู้โชคดีที่ตอบถูกจะได้รับของรางวัลจากทางรายการ เช่นนาฬิกาสำหรับสุภาพบุรุษหนึ่งเรือน สำหรับสุภาพสตรีหนึ่งเรือน สำหรับผู้เข้าชมรายการโลกดนตรียังสามารถบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนโครงการตู้ยาให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน
[แก้] ผู้สนับสนุนในรายการ
เริ่มตั้งแต่ ยุคลานกลางแจ้ง โลกดนตรี มีผู้สนับสนุนต่างๆ ดังนี้
ในยุคลานชั่วคราว พ.ศ. 2526 เครื่องดื่มโค้ก ,อาหารเสริมแลคตาซอย และ ลูกอมอาฟเตอร์มีล
ในยุคลานถาวร พ.ศ. 2527-2530 เครื่องดื่มโค้ก และ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซิงเกอร์
ในยุคลานถาวร พ.ศ. 2530-2535 เครื่องดื่มโค้ก ,ลูกอมแฮ็คส์,หมากฝรั่งคิด คิด,นาฬิกาคาเลร่า และ ลูกอมแพรอท
ในยุคลานถาวร ถึงยุคสุดท้าย ปลายปี พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2539 เครื่องดื่มโค้ก ,ลูกอมแฮ็คส์,ฟิล์มสีโกดัก Gold 100-400,นาฬิกาคาเลร่า
[แก้] โลกดนตรีครั้งพิเศษ
ไม่เพียงจัดการแสดงอยู่เฉพาะที่ ททบ. 5 แห่งเดียว ในบางครั้ง ทีมงานโลกดนตรียังได้ยกกองถ่ายไปจัดแสดงดนตรีตามสถานที่สำคัญทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น การจัดคอนเสิร์ตโลกดนตรีเนื่องในวันเด็กที่สวนลุมพินี และไปไกลถึงต่างประเทศด้วย ยกตัวอย่างเช่น คาราบาว และเพื่อนศิลปิน ไปแสดงสดโลกดนตรีสัญจรการกุศลที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2531 หรือคราวที่ จินตหรา พูนลาภ แสดงสดถึงประเทศสิงคโปร์ให้แรงงานไทยซึ่งทำงานที่นั่นได้ชม ทางรายการจึงนำภาพการแสดงสดข้ามประเทศมาออกสู่ประเทศไทยในเวลาเดียวกัน
นอกจากภาคปกติในวันอาทิตย์แล้ว ยังได้จัดรายการโลกดนตรีเป็นพิเศษในวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่จะมีเป็นบางโอกาส หรือกรณีสำคัญเช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันขึ้นปีใหม่ จะมีการจัดคอนเสิร์ตถ่ายทอดสดเช่นภาคปกติ หรือจะนำเอาเทปการแสดงสดหลายๆ ครั้งมาเสนอในครั้งเดียว เป็นต้น
เช่นในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ถือเป็นครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทย เมื่อทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยโดยความร่วมมือของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3,5,7 และ 9 ได้จัดรายการพิเศษวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ออกอากาศให้ชมกันตั้งแต่ 10.00-24.00 น. รายการโลกดนตรีก็เป็นหนึ่งในวันนั้นด้วย มีการแสดงสดของเหล่าศิลปินจากหลากหลายแนวเพลงและค่ายเพลงในขณะนั้นร่วม 3 ชั่วโมง อาทิ สายัณห์ สัญญา, ยอดรัก สลักใจ, พุ่มพวง ดวงจันทร์ ฯลฯ เพื่อถ่ายทอดสดไปยังผู้ชมทั่วประเทศ ถือเป็นครั้งเดียวที่โลกดนตรีถ่ายทอดสดพร้อมกันทุกช่อง
[แก้] รางวัลที่ได้รับ
รางวัลเมขลา
รายการเพลงสากลดีเด่น ปี 2523
ผู้กำกับรายการดนตรีดีเด่น ปี 2523
ผู้กำกับรายการดนตรีดีเด่น ปี 2525
ผู้กำกับรายการดนตรีดีเด่น ปี 2526
รายการเพลงไทยสากลยอดเยี่ยม ปี 2528
ผู้กำกับรายการดนตรียอดเยี่ยม ปี 2528
รายการเพลงดีเด่น ปี 2529
[แก้] โลกดนตรี Magazine
หน้าปกนิตยสาร โลกดนตรี (2528)นอกจากการผลิตรายการโทรทัศน์แล้ว ในปี พ.ศ. 2528 รายการโลกดนตรียังได้มีการผลิตนิตยสารชื่อเดียวกัน โดยมี อ.มานพ แย้มอุทัย พร้อมญาติพี่น้องและเพื่อนๆ ร่วมจัดทำ(ต่อจากนิตยสาร โด เร มี ของวงชาตรี) เนื้อหาในนิตยสารโลกดนตรีเป็นการเสนอข่าวคราวความเคลื่อนไหว บทความ บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับวงการเพลงของไทย เน้นไปที่ศิลปินกับผลงานเพลงล่าสุด วางจำหน่ายทุกเดือนตามร้านหนังสือทั่วไป ราคาเล่มละ 20 บาท ก่อนจะเปลี่ยนเป็นการแจกฟรีเฉพาะผู้เข้าชมในลานโลกดนตรีและทางไปรษณีย์เท่านั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531
[แก้] โลกดนตรียุคสุดท้าย
ในปี พ.ศ. 2537 ลานโลกดนตรีซึ่งตั้งอยู่บริเวณข้างอาคารห้องส่งของสถานี ได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อเตรียมสร้างอาคารหลังใหม่สูงสิบชั้น ศิลปินรายสุดท้ายที่ขึ้นเวทีลานโลกดนตรีคือ แร็พเตอร์ จากนั้นลานโลกดนตรีจึงได้ย้ายเวทีประจำรายการไปอยู่บริเวณลานจอดรถหน้าสถานี ดังเช่นเมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยเริ่มทำการแสดงวันที่ 18 กันยายน ด้วยการแสดงของศิลปินจากค่ายต่างๆ ได้แก่ ติ๊ก ชีโร่, โดม มาร์ติน, ฐิติมา สุตสุนทร, พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง, ฝันดี-ฝันเด่น, มอส ปฏิภาณ และดาวตลก หม่ำ จ๊กมก ซึ่งเพิ่งมีผลงานเพลงชุดแรกในชีวิตได้ร่วมแสดงประเดิมเวทีใหม่ของโลกดนตรีด้วย รายการโลกดนตรีจึงยังคงดำเนินต่อไปในเมื่อลานโลกดนตรีเดิมเป็นเพียงอดีต นอกจากนี้ทางรายการยังได้เปิดร้าน "โลกดนตรี คอร์เนอร์" โดยจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกจากศิลปินค่ายต่างๆ และทางรายการเอง ที่เดอะมอลล์ บางแค และอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง
รายการโลกดนตรีอยู่คู่ช่อง 5 มายาวนานกว่า 25 ปี ก็เป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อปลายปี พ.ศ. 2539 สมัย พล.อ.แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้อำนวยการสถานี เนื่องจากทางสถานีมีดำริที่จะจัดรายการคอนเสิร์ตขึ้นกันเอง โดยออกอากาศครั้งสุดท้ายวันที่ 29 ธันวาคม ก่อนจะย้ายไปออกอากาศทางไอทีวีแทน เริ่มครั้งแรกวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2540 เวลา 13.00 น. โดยได้เปลี่ยนพิธีกรเป็นคนรุ่นใหม่ และย้ายเวทีไปจัดแสดงที่ลานเอนกประสงค์ หน้าห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว และ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และในบางครั้งจะจัดรายการโลกดนตรีสัญจร ถ้าไอทีวีเพิ่มเครือข่ายที่ไหนก็จะสัญจรที่นั่น
โลกดนตรีในยุคไอทีวีกลับไม่ได้รับความนิยมมากเช่นสมัยก่อน เนื่องจากไอทีวีเพิ่งเปิดสถานีได้ไม่กี่ปีและยังครอบคลุมผู้ชมได้ไม่ทั่วประเทศ ทำให้ศิลปินที่มาแสดงโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นศิลปินจากค่ายเล็กๆ หรือค่ายอินดี้ ขณะที่ศิลปินจากค่ายใหญ่(แกรมมี่ และ อาร์เอส)ก็มาร่วมรายการน้อยลง จนในที่สุดก็ต้องปิดรายการอย่างถาวรในปลายปี พ.ศ. 2543 รวมจำนวนครั้งที่ออกอากาศทั้งสิ้นกว่า 1,200 ครั้ง มีอายุถึง 29 ปีเศษ
[แก้] การกลับมาของโลกดนตรี
รายการโลกดนตรีได้กลับมาออกอากาศอีกครั้งในรูปแบบเทปบันทึกภาพในวันและเวลาเดิมเพื่อให้สมกับเป็น "โลกดนตรี The Original" โดยออกอากาศทางช่อง มะจังทีวี ทรูวิชั่นส์ ช่อง 82 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 12.00-13.00 น. และออกอากาศซ้ำในเวลา 21.00 - 22.00 น. วันจันทร์ 15.00-16.00 น. วันพุธ 19.00 - 20.00 น. และ วันพฤหัสบดี 18.00 - 19.00 น. รวม 5 รอบต่อตอน เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 ธันวาคม 2012, 22:05:27น. โดย ruaykhab